วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ไม้ดอก ไม้ประดับ


ความหมาย ความสำคัญและประโยชน์ของไม้ดอกไม้ประดับ


            ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากขึ้น  ทั้งนี้เพราะมนุษย์มิใช่มีความต้องการเฉพาะปัจจัยสี่เท่านั้น  แต่ยังต้องการจัดสภาพแวดล้อม  ที่อยู่อาศัยให้เกิดความร่มรื่น  สวยงามน่าอยู่อีกด้วย  เช่น  มีการจัดสวน  ตกแต่งอาคาร  สถานที่  บ้านพักอาศัย  อาคารสำนักงาน  โรงเรียน  และสถานที่ต่าง ๆ  ให้เกิดความสวยงาม  ตลอดจนการใช้ไม้ดอก  ไม้ประดับ  ในการจัดตกแต่งประดับจานอาหาร  โต๊ะอาหารในภัตตาคารต่าง ๆ จึงเห็นได้ว่า การผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการค้านับวันจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น  และมีมูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงเท่าเทียมกับผลิตผลทางการเกษตรสาขาอื่น ๆ  ดังนั้น  การปลูกไม้ดอกไม้ประดับจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพที่น่าสนใจ
                   

ความสำคัญของไม้ดอกไม้ประดับ
            ไม้ดอกไม้ประดับมีความสำคัญ  ดังนี้
1.      สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม  การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  สามารถทำ
เป็นอาชีพของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี  สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตปีละจำนวนมาก ๆ
2.      ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความร่มรื่นสวยงาม  การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ   ช่วยสร้าง
ความร่มรื่นสวยงามให้แก่สถานที่ต่าง ๆ  ให้น่าอยู่น่าอาศัย  สร้างความเพลอดเพลิน
3.      เป็นแหล่งวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น  อุตสาหกรรมผลิตน้ำหอม
เครื่องสำอาง  อุตสาหกรรมด้านยารักษาโรค  ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น
4.      ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  เมื่อมีการรวมตัวกันผลิตไม้ดอกไม้ประดับ
จำนวนมาก  ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร  เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและส่วนรวมอีกทางหนึ่งด้วย
5.      ไม้ประดับสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ  สร้างรายได้เป็น
มูลค่านับพันล้านบาทต่อปี เช่น การส่งออกกล้วยไม้ทั้งต้นและดอกไปขายยังต่างประเทศ เป็นต้น
6.      ใช้เป็นแหล่งทดลองทางวิทยาศาสตร์การเกษตร  ทำให้เกิดความเจริญด้าน
เทคโนโลยีการเกษตรมากยิ่งขึ้น

ความหมายของไม้ดอกไม้ประดับ
            ไม้ดอก  หมายถึง  พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากดอก  พืชชนิดนี้มีลักษณะดอกสวยงาม  มีทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  ไม้พุ่ม  และไม้ล้มลุก  บางชนิดมีดอกสวยงามติดต้นนิยมปลูกประดับตกแต่งอาคารสถานที่  เรียกว่า ไม้ดอก เช่น ลั่นทม ยี่โถ ยี่เข่ง เข็ม ชวนชม ดาวกระจาย บานชื่น พุทธรักษา โป๊ยเซียน เป็นต้น  บางชนิดปลูกเพื่อตัดดอกนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง เรียกว่า ไม้ตัดดอก เช่น กุหลาบ ดาวเรือง หน้าวัว เบญจมาศ ซ่อนกลิ่น ขิงแดง กล้วยไม้ เป็นต้น
            ไม้ประดับ  หมายถึง  พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากรูปร่าง รูปทรง สีสันของลำต้นและใบ พืชชนิดนี้จะมีรูปทรง รูปร่าง สีสีนของลำต้นและใบสวยงามแตกต่างกันไป  นิยมปลูกประดับตกแต่งอาคารสถานที่ทั้งในพื้นดินและในกระถาง มีทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก เช่น ปาล์มต่าง ๆ ข่อย สนชนิดต่าง ๆ ไทรยอดด่าง ฤาษีผสม เฟิร์นชนิดต่าง ๆ สาวน้อยประแป้ง ว่านกาบหอย เป็นต้น

ประเภทของไม้ดอกไม้ประดับ
          1. แบ่งตามความต้องการแสงในการเจริญเติบโตสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1.1 พืชในร่ม  (indoor plants)  เป็นพืชที่ต้องการความเข้มของแสงต่ำ  ควรปลูกในที่ร่ม มี
แสงรำไร จะทำให้พืชมีการสังเคราะห์แสงดี อย่าให้ถูกแดดจัด  เพราะจะทำให้ใบไหม้และตายได้ เช่น เฟิร์นต่าง ๆ สาวน้อยประแป้ง  บอนสี เป็นต้น
1.2  พืชกลางแจ้ง (Outdoor plants)  เป็นพืชที่ต้องการความเข้มของแสงสูง จึงจะทำให้
ขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชทำได้ดี  พืชประเภทนี้จึงต้องปลูกกลางแจ้ง ถูกแดดจัดตลอดทั้งวัน เช่น กุหลาบ เข็ม ยี่โถ ดาวเรือง ดาวกระจาย ชวนชม เฟื่องฟ้า เป็นต้น
2. แบ่งตามลักษณะรูปทรงของลำต้น ใบ ได้แก่พรรณไม้ที่มุ่งเน้นความสวยงามที่รูปทรงของ
ลำต้น พุ่ม ใบ แบ่งได้ดังนี้
            2.1. ไม้ยืนต้น (Tree)  ส่วนมากเป็นพรรณไม้ที่ต้องขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีอายุยืนนานหลายปี มีดังนี้
            (1) ไม้ยืนต้นใบเลี้ยงคู่  ได้แก่  ไม้ให้ร่มเงา เช่น ประดู่แดง ประดู่บ้าน จามจุรี ทองกวาว คูณ นนทรีย์ ตะแบก เสลา พิกุล ลั่นทม ไทร ชงโค ฯลฯ  และไม้ยืนต้นที่มีลักษณะพิเศษของลำต้น ใบ หรือทรงพุ่มสวยงาม เช่น เฟื่องฟ้าตอ โมกตอ ไม้ดัดไม้แคระ ซองออฟอินเดีย ฯลฯ
            (2)  ไม้ยืนต้นใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น จันทน์ผา ปาล์มชนิดต่าง ๆ (จั๋ง อินทผลัม ปาล์มน้ำมัน ตาล หมากเขียว หมกเหลือง หมากนวล ฯลฯ)
            2. 2 ไม้พุ่ม  (Shrub)   เป็นพรรณไม้ที่ส่วนมากจะขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน   หรือ   ตัดชำ   ปลูกแล้ สามารถบังคับพุ่มได้    มี   2   กลุ่ม ดังนี้
            (1) ชนิดตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้  เช่น หูปลาช่อน ชบาด่าง นีออน ลิ้นกระบือ เข็มเชียงใหม่ เข็มพิษณุโลก บานบุรีพุ่ม ฯลฯ
            (2) ชนิดซอยบังคับทรงพุ่ม จะใช้กับพรรณไม้ที่ต้องการให้ออกดอก  และต้องการควบคุมความสูงของทรงพุ่ม เช่น เฟื่องฟ้า เข็มปัตตาเวีย เข็มมาเลเซีย เล็บครุฑ โกสน ฯลฯ
             2.3 ไม้กอ  เป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกหัว หน่อหรือเหง้า ได้แก่ ขิงแดง ข่าด่าง รางทอง เขียวหมื่นปี กล้วยกำมะหยี่ เสน่ห์ขุนแผน กาเหว่าลาย หนวดปลาดุก ม้าเวียน เศรษฐีไซ่ง่อน กำแพงเงิน กาบหอย สัปปะรดสี ฯลฯ
             2.4 ไม้คลุมดิน เป็นพืชที่มีลำต้นสั้นหรือลำต้นมีลักษณะเลื้อยยาวแผ่คลุมดินได้ดี เช่น มันเทศด่าง ผกากรองเลื้อย
            3. แบ่งตามความสวยงามหรือการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของพรรณไม้ แบ่งได้ดังนี้
                3.1  พืชพรรณที่มีโคนต้นหรือรากสวยงาม เช่น ไทร โพธิ์ ชวนขม หมากเล็กหมากน้อย สนเลื้อย ฯลฯ
                3.2 พืชพรรณที่มีลำต้นแปลกสวยงาม เช่น ไม้ดัดไม้แคระ ปาล์มชนิดต่าง ๆ  ฯลฯ





ไม้ดอกไม้ประดับ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับ
    ความหมายของไม้ดอกไม้ประดับ
    ไม้ดอก หมายถึง พันธุ์ไม้ทุกชนิดที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากความสวยงามของดอก มีดอกสวยงาม ดอกดก บานทน นิยมปลูกไว้ทั้งที่บานสวยงานอยู่กับต้นหรือตัดออกไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มได้ 2 กลุ่ม คือ ไม้ดอกประดับ ไม้ตัดดอก
    ไม้ดอกประดับ คือ พันธุ์ไม้ดอกทุกชนิดที่ปลูกไว้เพื่อประดับบ้านเรือนอาคารสถานที่โดยได้ดอกบานติดอยู่กับต้น เพื่อเพิ่มบรรยากาศให้สถานที่นั่นน่าอยู่อาศัยหรือน่าทำงาน ได้แก่ เข็มญี่ปุ่น พิทูเรีย แพงพวย พุทธรักษา บานชื่น ปทุมมา บัวสาย ฯลฯ ซึ่งหลายชนิดสามารถนำไปปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้
    ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไม้ดอกไม้ประดับหมายถึงพันธุ์ไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อทำให้เกิดความสวยงามทั้งภายในบริเวณบ้าน เช่น ในบริเวณสนามรอบ ๆ ตัวบ้าน แขวนไว้ตามชายบ้าน และตั้งประดับไว้ตามส่วนต่าง ๆ ภายนอกตัวบ้านหรืออาคาร
    การจำแนกประเภทและแบ่งพันธุ์ไม้นั้น มีหลักพิจารณาและจำแนกต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความมุ่งหมายและความประสงค์ ซึ่งอาจแบ่งจำพวกพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
1.    การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามความมุ่งหมายที่ใช้ หมายถึง การแบ่งพันธุ์ไม้ตามความต้องกรและมุ่งหมายที่จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์และ ใช้ส่วนไหนเพื่อประโยชน์ที่ต้องการ
2.    การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามลักษณะนิสัยของพันธุ์ไม้เช่นการแบ่งตามถิ่นกำเนิดแบ่งตามอายุความเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ตามลักษณะเนื้อไม้ ตามสิ่งแวดล้อม และตามลักษณะของลำต้น
3.    การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามหลักพฤกษศาสตร์ มีความมุ่งหมายเพื่อจำแนกพันธุ์ไม้ทั่ว ๆ ไปให้แน่ชัดในรูปร่าง ลักษณะนิสัยการดำรงชีพ และการสืบพันธุ์ ของพันธุ์ไม้ให้อยู่เป็นกลุ่มที่แน่นอน ไม่ปะปนสับสนกัน
    ประเภทของไม้ดอกไม้ประดับ
1.    การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
      1.1    ใช้เพื่อก่อให้เกิดความสวยงาม เช่น ร้อยพวงมาลัย ตกแต่งอาคารสถานที่
      1.2    ใช้ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสดชื่น สบายใจ หรือฟื้นฟู สภาพจิตใจ เช่น การจัดกระเช้าดอกไม้หรือจัดแจกันให้ผู้ป่วยเกิดความสดชื่น
      1.3    ช่วยลดการเกิดวัชพืช ไม้ดอกไม้ประดับบางชนิดสามารถปลูกคลุมดินได้เป็นอย่างดี ช่วยรักษาระดับอุณภูมิและความชื้นภายในดิน
      1.4    ใช้ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเป็นยารักษาโรค
      1.5    ใช้ไม้ดอกไม้ประดับในการประกอบอาหาร เช่น การใช้สีจากใบเตย ฯลฯ
      1.6    ใช้ประดับในงานพิธีต่าง ๆ เช่น วันเกิด งานแต่งงาน ฯลฯ
      1.7    ใช้แสดงความยินดีและใช้โอกาสต่าง ๆ เช่น รับปริญญา ฯลฯ
2.    การใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือการประกอบธุรกิจ
      2.1    การปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น การปลูกเป็นพืชแซม หรือ ในสวนบริเวณบ้าน
      2.2    การปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพ่อการค้า หรือจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
    ความสำคัญของไม้ดอกไม้ประดับ  มนุษย์จะใช้ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อกิจการต่าง ๆ ดอกไม้ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในตลาดโลก 3 ลำดับแรกคือ คาร์เนชั่น กุหลาบ และ เบญจมาศ ดอกไม้ที่ประเทศไทยส่งออก ส่วนใหญ่คือ กล้วยไม้ และ กุหลาบ มีประเทศลูกค้าที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ อังกฤษ ฮ่องกง เยอรมนี ญี่ปุ่น และ เนเธอร์แลนด์
คุณภาพของไม้ดอกไม้ประดับ
    คุณภาพของไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ดอกและไม้ประดับเป็นอวัยวะของพืชที่ค่อนข้างซับซ้อนซึ่งเมื่อมีการสูญเสียคุณภาพของก้าน ใบ หรือดอก จะไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะตลาดไม่ยอมรับการสูญเสียคุณภาพมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น การเหี่ยว การร่วงของใบหรือกลีบดอก การโค้งงอ เป็นต้น ในการคัดคุณภาพหรือจัดมาตรฐานไม้ดอกไม้ประดับนั้น ต้องเข้าใจสาเหตุที่ทำให้คุณภาพของไม้ดอกไม้ประดับเสียไปได้แก่
1.    การเจริญเติบโตและการแก่ ทำให้คุณภาพเสื่อมลง และอาจทำให้เกิดการโค้งของก้านดอกได้
2.    การเสื่อมสภาพเป็นช่วงเวลาที่ดอกไม้กำลังจะหมดอายุซึ่งคุณภาพจะต่ำลง
3.    การเหี่ยว อายุการปักแจกันของดอกไม้และใบไม้ขึ้นอยู่กับการได้รับน้ำอย่างต่อเนื่องและพอเพียง
4.    การเหลืองของใบและอวัยวะอื่น ๆ ทำให้ดอกหมดอายุการใช้งาน
5.    การร่วงของกลีบดอกและใบหรืออวัยวะอื่น ๆ จากสาเหตุต่าง ๆ
    ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ดอกไม้ประดับ
1.    ดิน เป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับแรกเพราะดินจะช่วยพยุงลำต้น เป็นแหล่งให้น้ำให้อากาศตลอดจนแร่ธาตุต่าง ๆ ดินที่อุดมสมบูรณ์พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี
2.    ความชุมชื่นหรือน้ำ หมายถึง ความชุ่มชื้นที่อยู่ในดิน และความชุ่มชื้นที่อยู่ในอากาศดินที่อุดมสมบูรณ์มีธาตุอากาศหากขาดน้ำในดินรากก็ไม่สามารถดูดไปใช้ได้ ความชุ่มชื้นในอากาศมีความจำเป็นต่อต้นไม้เพราะจะช่วยให้ต้นไม้สดชื่นอยู่เสมอ
3.    แสงสว่าง มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชนับตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก การสร้างฮอร์โมนในพืช การสร้างเม็ดสี ตลอดจนการออกดอกผลและอื่น ๆ พืชบางชนิดจะออกดอกเมื่อได้รับแสงสว่างเพียงพอ
4.    อุณหภูมิ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของดอกและปริมาณดอก
5.    ปุ๋ย การเจริญเติบโตของพืชต้องการอาหารธาตุ ในการเจริญเติบโตจะได้รับอาหารธาตุเหล่านั้นจากดิน น้ำและอากาศ ในปัจจุบันธาตุในดินไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อปรุงดินให้มีธาตุตามที่พืชต้องการ
6.    โรคและแมลง โรคที่เกิดกับพืชมีทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อราแบคทีเรีย ส่วนแมลงนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่น เพลี้ยหนอนต่าง ๆ การฉีดยาป้องกันโรคและแมลงก่อนจะช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี
7.    การตัดแต่ง จะมีผลการเจริญเติบโต แตกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ ซึ่งจะช่วยในการกำหนดรูปร่างรูปทรงของพืชนั้น รวมทั้งการตัดกิ่งที่ไม่ต้องการ
8.    ตำแหน่งที่ปลูก มีผลต่อการเจริญเติบโตอีกประการหนึ่ง การเรียนรู้ ลักษณะนิสัยของพืชนั้น ๆ จะทำใหสามารถเลือกสถานที่ที่จะปลูกพืชนั้น ๆ ให้เหมาะสมเพื่อให้มีการเจริญเติบโตได้ดี
อนาคตตลาดไม้ดอกไม้ประดับไทย
    สถานภาพไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทย
1.    ลักษณะการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่ส่งสินค้าไม้ดอกไม้ประดับออกจำหน่ายต่างประเทศเป็นอันดับ 3 ของโลก
2.    ด้านการผลิตและการใช้ดอกไม้ประดับภายในประเทศชนิดไม่เพียงพอกับความต้องการ
3.    การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อการจำหน่ายได้มีการขยายตัวมากขึ้น
-    ภาคเหนือ ปลูกมากที่เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร และเชียงใหม่
-    ภาคกลาง ปลูกมากที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม
-    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกมากที่หนองคาย ขอนแก่น และอุบลราชธานี
-    ภาคใต้ ปลูกมากที่สุราษฏร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสงขลา
ดอกไม้ที่ปลูกมากทั้ง 4 ภาค ดังกล่าว ได้แก่ กล้วยไม้ กุหลาบ เยอบีร่า มะลิ และ บานไม่รู้โรย
    ไม้ไทยอยู่ในฐานะไม่แตกต่างจากสินค้าเกษตรอย่างอื่น เมื่อก่อนอาจจะถูกมองข้ามไปเสียด้วยซ้ำว่า ปลูกแล้วกินไม่ได้ ปลูกไม้อย่างอื่นดีกว่า แต่ไม้ไทยได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ผู้ปลูกสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ถึงจะกินไม่ได้ก็จริง แต่เมื่อมีผลผลิต ขายได้เงินมีอยู่มีกินมากกว่า ผู้ที่ผลิตพืชบางชนิดที่กินได้ โดยตรงเสียอีก
    ตลาดพันธุ์ไม้ไทยสามารถแบ่งรูปแบบได้ดังนี้
1.    ปลูกขายเองอยู่กับที่ เกษตรกรจะปลูกขายเองอยู่กับที่ได้นั้น ต้องอาศัยประกอบการมานานมีของในปริมาณที่แน่นอน เป็นคนที่มีชื่อเสียง ถ้าเป็นคนทำแรกเริ่มจะดีมาก แหล่งผลิตต้องอยู่ไม่ห่างไกลจากผู้ซื้อ
2.    ปลูกเองมีร้านขาย หากมีผู้ผลิตพันธุ์ไม้และขายเองได้ ฐานะของเกษตรกรจะดีขึ้น เพราะกำไร ไม่ได้หลุดลอยไปไหน ยังคงเป็นของเกษตรกรทั้งหมด
3.    ส่งขายให้ผู้ค้าคนกลาง รูปแบบนี้เกษตรกรยังได้รับผลประโยชน์เพราะส่งถึงผู้ค้าโดยตรงแต่ก็ยังมีให้เห็นน้อย
4.    ผ่านผู้ค้าคนกลาง ผู้ค้นคนกลางเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี เพราะหากขาดผู้ค้าคนกลางแล้วงานหลายอย่างจะหยุดชะงัก แต่ก็ยังมีปัญหาที่ผู้ค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร
ต้นไม้กับความเชื่อของคนไทย
    คนไทยมีวิถีชีวิตผูกติดกับความเชื่อ คติโบราณมาเนิ่นนานไม่ว่าจะทำการใด จักต้องมีฤกษ์ยามเพื่อให้เป็นช่วงแห่งมงคลทุกครั้งไป ความเชื่อเรื่องโชคลาง เคล็ด ความเป็นมงคลและอัปมงคลนี้รวมไปถึงต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ที่ควรปลูกและไม่ควรปลูกในบ้าน การปลูกต้นไม้ตามทิศการปลูกต้นไม้ตามวัดเกิดและตามปีเกิด ซึ่งมีความเชื่อว่า จะส่งผลให้ผู้ปลูกเจริญรุ่งเรือง และประสบความสำเร็จในชีวิต
    ความเชื่อเรื่องไม้มลคลตามปีเกิด
คนโบราณมีความเชื่อว่า แต่ละปีมีต้นไม้ที่ปลูกแล้วจะเป็นมงคล ดังนี้
ปีชวด    - ต้นมะพร้าว และต้นกล้วย
ปีขาล    - ขนุนหรือต้นรัง
ปีมะโรง    - ต้นงิ้วและกอไผ่
ปีมะเมีย    - ต้นกล้วย
ปีวอก    - ขนุน
ปีจอ    - สำโรงและบัวหลวง
ปีฉลู    - ต้นตาล
ปีเถาะ    - มะพร้าว และต้นงิ้ว
ปีมะเส็ง    - กอไผ่ และต้นรัง
ปีมะแม    - ปาริชาต และไผ่ป่า
ปีระกา    - ยาง และฝ้ายเทศ
ปีกุน    - บัวหลวง

    ไม้มงคล 9 ชนิด
ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง 9 ชนิดมีชื่อเป็นมงคลนาม ดังนี้
1.    ชัยพฤกษ์ ทำให้มีโชค มีชัย มีอำนาจวาสนาสูงส่ง
2.    ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ มีคนยกย่องนับถือ
3.    ทองหลาง หมายถึง มีเงินทอง ข้าวของอุดมสมบูรณ์
4.    ไผ่สีสุก หมายถึง การมีความสุขความเจริญ
5.    กันเกรา หมายถึง เครื่องป้องกันอันตราย
6.    ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมีความมั่นคงแข็งแรง
7.    ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ
8.    ไม้พะยูง ช่วยพยุงฐานะให้มั่นคง
9.    ไม้ขนุน ช่วยหนุนบารมี เงินทอง มีแต่คนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล
    การปลูกต้นไม้ตามทิศเพื่อสิริมงคล
ตามประเพณีโบราณเมื่อปลูกบ้านใหม่ นิยมเอาไม้ที่มงคลปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ดังนี้
-    ทิศบูรพา (ตะวันออก) ปลูกต้นไผ่ ต้นกุ่ม และต้นมะพร้าว จะอยู่เย็นเป็นสุข
-    ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ปลูกต้นยอ
-    ทิศทักษิณ (ใต้) ปลูกต้นมะม่วง และต้นพลับจะร่ำรวยยิ่งขึ้น
-    ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ปลูกต้นชัยพฤกษ์ รายพฤกษ์ สะเดา ป้องกันโทษร้ายต่าง ๆ
-    ทิศประจิม (ตะวันตก) ปลูกต้นมะขาม มะยม ป้องกันผีร้ายกล้ำกลาย
-    ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ปลูกต้นมะกรูด จะสวัสดี
-    ทิศอุดร (เหนือ) ปลูกต้นพุทรา และหัวว่านต่าง ๆ ป้องกันอาคมและเวทมนตร์

ตัวอย่างไม้ดอกไม้ประดับ
    บัว พันธุ์ไม้น้ำที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องและคุณงามความดี ในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของมนุษย์กับการเจริญเติบโตของบัวเป็น 4 เหล่าคือ บัวในโคลนตม บัวใต้น้ำ และบัวเหนือน้ำ บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ดูสง่างาม ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีสันสวยงาม เด่นสะดุดตาสะดุดใจ แก่ผู้พบเห็น บางชนิดมีกลิ่นหอมน่าชื่นชม
    กุหลาบ เป็นไม้ดอกที่มีความสวยงามที่จะหาดอกไม้ชนิดอื่นมาเปรียบเทียบได้ จนกระทั่งมีผู้ให้ฉายาว่า “ราชินีแห่งดอกไม้” ดังนั้นกุหลาบจึงเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกและใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้กุหลาบยังมีคุณสมบัติที่ดีเด่นอีกหลายประการ สามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง เช่น ใช้ เป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอก ตกแต่งสถานที่ ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเป็นน้ำมันหอมระเหยและดอกไม้แห้ง
    โป๊ยเซียน ต้นไม้แห่งโชคลาภตามความเชื่อถือแต่โบราณ จัดเป็นไม้อวบน้ำอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มาก พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อนพืชในวงศ์นี้มีมากกว่า 300 สกุล โป๊ยเซียนจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Euphorbia ซึ่งในสกุลนี้มีไม่ต่ำกว่า 2,500 ชนิด ได้แก่ คริสต์มาส สลัดได ส้มเช้า หญ้ายาง และกระบองเพชรบางชนิด
    ชวนชม  เป็นพรรณไม้ที่มีสีสันของดอกสวยงามสะดุดตามีรูปทรงของต้นและกิ่งก้านที่สวยงามและอ่อนช้อยนุ่มนวล เป็นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้งจนได้รับสมญาว่า Derest Rose หรือ “กุหลาบทะเลทราย” นอกจากนี้ชวนชมยังเป็นชื่อที่มีความไพเราะเป็นศิริมงคลตามความเชื่อของคนไทย แม้แต่ชาวจีนซึ่งเรียกชวนชมว่า “ปู้กุ้ยฮวย” หรือ ดอกไม้แห่งความร่ำรวยก็ยังมีความหมายไปในทางศิริมงคลเช่นกัน
    ขิงแดง เป็นพืชที่มีการปลูกประดับบ้านเรือนมานานแล้ว มีการดูแลรักษาง่าย สามารถเจริญเติบโต ได้ดีในสภาพดินทั่วไป ขยายพันธุ์ได้ด้วยหน่อ และให้ดอกตลอดปี ขิงแดงมีช่อดอกที่สวยงาม สามารถบานอยู่บนต้นไม้ได้นาน และมีรูปทรงของดอกที่แปลกกว่า ไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ประกอบกับเมื่อนำมาปักแจกันพบว่ามีอายุการแจกันที่เหมาะสม ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากวิวัฒนาการจากการปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้าน มาเป็นการปลูกเพื่อ ตัดดอกเป็นการค้ามากขึ้น
    มะลิ เป็นพรรณไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ลำต้นสูงประมาณ 5 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกเป็นคู่ ไปตามก้านต้นลักษณะใบป้อมมนปลายใบแหลมโคนใบสอบ ขอบใบเรียบไม่มีจัก ผิวใบเรียบสีเขียวเข้มเป็นใบยาว 2-3 นิ้ว มีดอกเป็นดอกเดี่ยวออกเป็นช่อตามปลายยอดหรือปลายกิ่งประมาณ 3-5 ดอก แล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ออกดอกตลอดไป มะลิเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ปลูกในดินร่วนซุย ขยายพันธุ์โดยการปักชำ หรือตอน
    ดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่คนไทยรู้จักกันดีชนิดหนึ่ง เนื่องจากปลูกง่าย โดเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีสีสันสดใส ดอกมีลักษณะกลมสวยงาม อายุการใช้งานนานประมาณ 7-10 วัน นอกจากนี้ ดาวเรืองยังเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60-70 วัน ก็สามารถตัดจำหน่ายได้ รวมทั้งดาวเรืองยังเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีทุกสภาพพื้นที่และทุกฤดูกาลของประเทศและเป็นไม้ดอกสามารถทำรายได้กับผู้ปลูกสูง
    ทานตะวัน เป็นดอกไม้สีเหลือง ดอกใหญ่กว่าดอกรักเร่เป็นที่สะดุดตามากบางทีดอกจะใหญ่กว่าลำต้นด้วยซ้ำ แทบจะไม่สมดุลกันเลยนิยมปลูกเป็นแปลง เป็นไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว เมื่อออกดอกแล้วดอกจะหันไปทางทิศตะวันออก เป็นการทานตะวัน ไม่หันไปทางทิศอื่น จึงได้ชื่อว่าดอกทานตะวัน
    โกสน  จัดเป็นไม้ประเภทไม้พุ่ม มีขนาดตั้งแต่พุ่มขนาดเล็กจนถึงพุ่มขนาดใหญ่ โดยทั่วไปนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางเพื่อให้มีลักษณะเป็นพุ่มเล็ก ๆ แต่ถ้าปลูกลงดินและมีอายุหลายปีลำต้นสูงใหญ่เป็นพุ่มขนาดใหญ่ได้เช่นกัน จุดเด่นของโกสนคือเป็นไม้ที่มีใบแปลกไปจากไม้ชนิดอื่น ๆ คือ มีรูปร่างลักษณะของใบแตกต่างกันออกไปหลากหลายรูปแบบมีสีสัน
    สาวน้อยประแป้ง  เป็นไม้ประดับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงไว้ประดับอาคารบ้านเรือนและสำนักงานอย่างแพร่หลาย ไม่ต่างไปจากเขียวหมื่นปี ไม้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศเมื่อมาถึงเมืองไทยก็กลายเป็นไม้มงคลที่ถูกตั้งชื่อให้มีความหมายไปในทางมงคล
    เขียวหมื่นปี เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม สีเขียวตลอดทั้งปี สามารถเจริญงอกงามได้แม้ในที่มีแสงสว่างเพียงเล็กน้อย จึงนิยมใช้ปลูกเลี้ยงประดับภายในอาคาร นอกจากนี้เขียวหมื่นปี ยังทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งหรือความชื้นต่ำได้ดี เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Aglaonema มีถิ่นกำเนินกระจายอยู่ในประเทศเขตร้อนของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ จีน และแอฟริกา ไม้ในตระกูลนี้คนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในชื่อว่าว่านมงคลที่มีสรรพคุณต่าง ๆ กันตามความเชื่อถือ
    บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะใบที่มีรูปทรงและสีสันสวยงามแปลกตาจนได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งไม้ใบ” เป็นพืชในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีถิ่นกำเนิดแถวทวีปอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อนทั่วไป บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน คล้ายหัวเผือกหรือมัน มีรากเป็นเส้นฝอยเล็ก ๆ แทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวอยู่ในฤดูหนาว โดยจะทิ้งใบจนหมดสิ้นและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน

บทสรุป
    ย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความจำเป็นต่อการมีชีวิตในสังคมมาก มนุษย์มีความเจริญมากขึ้นทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรม มิใช่แต่ปัจจัย 4 เท่านั้นที่จำเป็นโดยตรง แต่การรักสวยรักงามยังเป็นสิ่งเชิดชูทำให้ปัจจัย 4 มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นด้วย จะเห็นว่าไม้ดอกไม้ประดับ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อยู่มาก เช่น ต้องประกอบด้วยไม้ดอกไม้ประดับจึงจะทำให้ที่อยู่อาศัยนั้นมีค่าสูงขึ้นอาหารก็เช่นกัน ถ้าหากตบแต่งโดยปราศจากไม้ดอกไม้ประดับแล้วก็จะทำให้สถานที่บริโภคนั้นลดคุณค่าลงไป เครื่องนุ่งห่มก็เช่นกัน ยังต้องการช่อไม้ประดับด้วยจึงจะดูงามมากขึ้น หรือแม้แต่ยารักษาโรคบางชนิดก็ต้องอาศัยต้นไม้เป็นส่วนประกอบด้วย
    ในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการค้านั้น นับวันจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ในเมืองไทยเรานั้นตลาดการค้าไม้ดอกไม้ประดับนับวันจะขยายกว้างออก และมีปริมาณมากขึ้นให้ทันกับความต้องการของคนไทย จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าอนาคตของการปลูกไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทยนั้น จะก้าวไปสู่วิถีการผลิตเช่น ผลิตผลในทางเกษตรกรรมสาขาอื่น ๆ ได้เหมือนกัน


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น